ผู้ป่วยเรื้อรัง – ผู้สูงอายุ เตรียมตัวอย่างไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง กลุ่มโรค NCDs (Non-Communicable diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องรับการฉีดวัคซีนโควิด เนื่องจากหากติดเชื้อมีความเสี่ยงสูงในการเสียชีวิตมากกว่ากลุ่มอื่น
โดยจากข้อมูลพบว่า โรคโควิด-19 ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการหนักและเสียชีวิตหลังจากติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่ คือ กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วย 7 โรคเรื้อรัง นอกจากนั้นปัจจัยเสี่ยงเกิดในคนที่มีโรคประจำตัว 86% และอายุมัธยฐานอยู่ที่ 65 ปี (ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค)
ในการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังควรเตรียมพร้อมร่างกาย และปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
รักษาสุขภาพกายและใจให้แข็งแรง
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
ในวันที่รับวัคซีนต้องไม่มีไข้ หากมีไข้ ปวดหัว หรือมีอาการป่วย ควรเลื่อนการรับวัคซีนไปก่อน และรอให้อาการทุเลาลงอย่างน้อย 2 วัน
รับประทานอาหารให้เพียงพอครบ 5 หมู่ และไม่จำเป็นต้องงดอาหารหลัง 2 ทุ่ม
ดื่มน้ำให้เพียงพอประมาณ 500-1,000 ซีซี. เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ เพราะอาจจะทำให้หลอดเลือดหดตัว
วัดอุณหภูมิร่างกายและวัดไข้ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
กรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่ควรหยุดรับประทานยาเอง ยกเว้นกรณีที่แพทย์แนะนำให้หยุดยาชั่วคราว เพื่อให้ผลลัพธ์ของวัคซีนมีความแม่นยำ
กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เป็นโรคเลือดออกได้ง่าย หรือได้รับยาที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือด จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
หลังฉีดเรียบร้อยแล้วภายใน 2 – 4 ชม. ไม่ควรทำกิจกรรมอะไร เพื่อให้วัคซีนได้ทำงานอย่างเต็มที่
ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี หรืออยู่ในระดับที่เหมาะสม (หากน้ำตาลในเลือดสูงก็จะทำให้ระบบในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปมา หากน้ำตาลในเลือดต่ำขณะไปรับวัคซีน ก็จะทำให้ผู้ป่วยเป็นลมได้ง่าย)
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ที่ไม่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 จะต้องควบคุมความดันให้ไม่เกิน 140 มม.ปรอท