โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา (Kaposi Sarcoma)Kaposi Sarcoma หรือโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา คือโรคมะเร็งชนิดหนึ่งที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Human Herpesvirus 8 (HHV-8) ส่งผลให้ผิวหนังเปลี่ยนไป เกิดรอยโรคสีม่วงคล้ำตามผิวหนัง ในกรณีที่รุนแรง อาการผิดปกติอาจแพร่กระจายไปสู่อวัยวะภายใน อย่างปอดหรือทางเดินอาหาร ทั้งนี้ การติดเชื้อในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะไม่แสดงอาการ เพราะระบบภูมิคุ้มกันทำงานเป็นปกติ แต่หากเกิดการติดเชื้อในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ไวรัสดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดโรคขี้น
มะเร็งคาโปซิซาร์โคมาจัดอยู่ในกลุ่มของมะเร็งของหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง มะเร็งดังกล่าวแบ่งย่อยเป็นหลายชนิด ส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะ อีกทั้งโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาจัดอยู่ในกลุ่มโรคที่บ่งชี้ว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้เข้าสู่ระยะของโรคเอดส์แล้ว
อาการของ Kaposi Sarcoma
ผู้ป่วยโรคมะเร็ง Kaposi Sarcoma จะมีอาการเริ่มต้น คือ เกิดรอยโรคขนาดเล็กบริเวณผิวหนังและเนื้อเยื่อบริเวณต่าง ๆ เช่น ขา เท้า ปาก จมูก ตา หรือรูทวาร ฯลฯ รอยโรคดังกล่าวอาจมีลักษณะนูนหรือแบน เป็นสีม่วง แดง หรือคล้ำ มักไม่เจ็บและไม่คัน แต่จะกลายเป็นก้อนขนาดเล็กและรวมเข้ากับก้อนอื่น ๆ ซึ่งอาการจะขึ้นกับชนิดของมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา
ในชนิดที่มีความรุนแรงมากขึ้น รอยดังกล่าวจะกระจายตัวเข้าสู่อวัยวะภายใน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการ ดังนี้
กลืนลำบากเนื่องจากมีก้อนเนื้อในทางเดินอาหาร และอาจส่งผลให้อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน
คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้องจากการอุดตันในช่องท้อง
มีอาการบวมบริเวณใบหน้า ขา หรืออัณฑะ
ไอเป็นเลือด
หายใจสั้นเนื่องจากมีก้อนเนื้อขัดขวางทางเดินหายใจ
ในกรณีของผู้ป่วยที่มีเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคเอดส์จะมีอาการจะรุนแรงกว่าผู้ป่วยทั่วไป ขนาดของรอยโรคกว้างและเป็นก้อนแข็งขนาดใหญ่ อาจเกิดแผลพุพองติดเชื้อ และเกิดการแพร่กระจายได้มากกว่า เมื่อกระจายตัวเข้าสู่ปอดจะทำให้อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ระบบการหายใจล้มเหลวและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
สาเหตุของ Kaposi Sarcoma
โรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส Human Herpesvirus 8 (HHV-8) ในผู้ที่ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง โดยสามารถแบ่งชนิดของโรคมะเร็งดังกล่าวได้ 4 กลุ่ม คือ
มะเร็งคาโปซิซาร์โคมาชนิดที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชไอวี (HIV-related Kaposi Sarcoma)
เป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด โดยเชื้อเอชไอวี (HIV) จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันด้วยการทำให้ไวรัส HHV-8 เพิ่มขึ้นหลายเท่า ในกลุ่มผู้ที่มีอาการของโรคมะเร็ง Kaposi Sarcoma มักเป็นเพศชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศชาย
มะเร็งคาโปซิซาร์โคมาชนิดทั่วไป (Classic Kaposi Sarcoma)
เป็นชนิดที่พบได้น้อยและไม่ค่อยมีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งมากนัก มักพบในผู้ชายสูงอายุเชื้อสายเมดิเตอร์เรเนียน ยุโรปตะวันออก และตะวันออกกลาง โดยอาจมีเชื้อไวรัส HHV-8 มาตั้งแต่เด็ก เมื่อเชื้อไวรัสดังกล่าวทำให้เกิดมะเร็ง จะเกิดรอยโรคบริเวณขาหรือเท้า ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ที่เป็นมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาชนิดนี้มีความบกพร่องแต่น้อยกว่าผู้ที่เป็นมะเร็งคาโปซิซาร์โคมาชนิดที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเอชไอวี
มะเร็งคาโปซิซาร์โคมาชนิดที่เกี่ยวข้องกับการปลูกถ่ายอวัยวะ (Transplant Kaposi Sarcoma)
เกิดในผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายอวัยวะหรือปลูกถ่ายไขกระดูกในร่างกาย และต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่ ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ แต่หากผู้ป่วยที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะติดเชื้อ KSHV ก็อาจสามารถกลายเป็นเซลล์มะเร็งคาโปซิซาร์โคมาได้ รวมทั้งหากได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะในประเทศที่มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคสูงอย่างประเทศอิตาลีหรือซาอุดิอาระเบีย ก็อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะได้รับเชื้อไวรัส HHV-8
มะเร็งคาโปซิซาร์โคมาชนิดที่พบมากในประเทศแถบแอฟริกา (Endemic or African Kaposi Sarcoma)
เนื่องมาจากอัตราการติดเชื้อไวรัส HHV-8 ในประชากรบริเวณแอฟริกามีมากกว่าประชากรส่วนอื่น ๆ มะเร็งชนิดนี้พบได้ในหลายช่วงอายุ เป็นมะเร็งชนิดที่มักจะขยายขนาดช้าแต่อาจลุกลามได้ โดยจะเข้าทำลายกระดูกและเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
การวินิจฉัย Kaposi Sarcoma
แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ ตรวจดูบริเวณรอยโรค และอาจมีการตรวจบริเวณต่อมน้ำเหลือง ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบหากเป็นผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีหรือเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน จากนั้นแพทย์จะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ร่วมกับผลจากการตรวจชิ้นเนื้อ แต่ในกรณีที่เกิดความผิดปกติของอวัยวะภายในร่างกาย แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจสอบด้วยวิธีอื่น ๆ ดังนี้
การเอกซเรย์ช่วงอก ในกรณีที่มีความผิดปกติบริเวณปอด
การถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีที สแกน (CT Scan) เพื่อตรวจหาความผิดปกติบริเวณต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ
การส่องกล้องตรวจหลอดลม (Bronchoscopy) สำหรับผู้ป่วยมีความผิดปกติในระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจสั้น ไอเป็นเลือด หรือพบความผิดปกติจากการเอกซเรย์หรือการเอกซเรย์ด้วยคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร (Gastrointestinal Endoscopy) หากผู้ป่วยมีภาวะขับถ่ายเป็นเลือด ปวดบริเวณท้อง
นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งให้มีการตรวจการติดเชื้อเอชไอวี (HIV Test) เพิ่มเติมในผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือผู้ที่สงสัยว่าอาจติดเชื้อเอชไอวี
การรักษา Kaposi Sarcoma
เมื่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง Kaposi Sarcoma ได้รับเชื้อไวรัส HHV-8 แล้ว จะไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสดังกล่าวออกจากร่างกายทั้งหมดได้ แพทย์จึงมุ่งเน้นไปที่การรักษามะเร็งและบรรเทาอาการของโรค โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ชนิด และความรุนแรง ดังนี้
การรักษาด้วยยา เนื่องจากปัจจัยหลักที่ทำให้เป็นมะเร็งเกิดจากการที่ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง จึงต้องเน้นไปที่การทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีความแข็งแรง เช่น การใช้ยาต้านไวรัสในผู้ป่วยโรคเอดส์จะช่วยรักษาโรคมะเร็ง Kaposi Sarcoma ไปในเวลาเดียวกัน และผู้ที่เปลี่ยนถ่ายอวัยวะควรเปลี่ยนหรือลดการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายสามารถทำงานได้อย่างปกติ เป็นต้น
การรักษาเฉพาะที่ เช่น การรักษาด้วยการฉีดสารเคมีเข้าไปในบริเวณที่เกิดรอยโรค การศัลยกรรมโดยใช้ความเย็น การตัดเนื้อบริเวณส่วนที่เกิดรอยโรคออก การฉายรังสีเฉพาะจุดในกรณีที่เป็นรอยขนาดเล็ก เพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง เป็นต้น
การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) เป็นการรักษาต่อเนื่องหากใช้วิธีปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันไม่ได้ผล ยาเคมีบำบัดมักเป็นรูปแบบให้ทางเส้นเลือดดำ และอาจเป็นรูปแบบรับประทานในบางกรณี
การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายเซลล์มะเร็ง โดยแพทย์อาจจะฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง
ภาวะแทรกซ้อนของ Kaposi Sarcoma
มะเร็ง Kaposi Sarcoma อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงแตกต่างกันตามอวัยวะในบริเวณที่พบหรือใกล้เคียงเซลล์มะเร็ง เช่น เกิดอาการบวมน้ำ เคลื่อนไหวลำบากเนื่องจากขาบวม การติดเชื้อบริเวณผิวหนัง เป็นต้น นอกจากนี้ แม้ว่าจะรักษาโรคจนหายเป็นปกติ ก็ยังมีโอกาสกลับมาเกิดซ้ำได้ในจุดเดิมหรือบริเวณใกล้เคียง มะเร็ง Kaposi Sarcoma บางชนิดอาจทำให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
การป้องกัน Kaposi Sarcoma
มะเร็ง Kaposi Sarcoma ไม่สามารถป้องกันได้ในปัจจุบัน ทำได้เพียงลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส Human Herpesvirus 8 (HHV-8) หรือลดโอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายเป็นมะเร็งในผู้ที่ติดเชื้อไวรัส HHV-8 แล้วเท่านั้น โดยสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง การรับประทานยาต้านไวรัส (PrEP) ก่อนสัมผัสโรค การไม่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น วิธีเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยทำให้เกิดโรคมะเร็งคาโปซิซาร์โคมา ในกรณีที่ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสเอชไอวีแล้ว การรับประทานยาต้านไวรัสที่เหมาะสมจะช่วยลดโอกาสการเกิดมะเร็ง Kaposi Sarcoma ได้เช่นกัน